
วนค.เข้าร่วมพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะวันยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประจำปีพุทธศักราช 2563

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2563 เวลา 07.00 น. ณ ศาลาประจักษศิลปาคม หน้าศาลากลางจังหวัดหนองคาย มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย นำโดยนายชานนท์ จันทราศรี หัวหน้างานเทโนโลยีสารสนเทศและห้องสมุด พร้อมด้วยบุคลากรสำนักงานวิทยาเขตหนองคาย ร่วมพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะวันยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วันที่ 18 ธันวาคม 2563 โดยมีนายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย นำข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนร่วมพิธีดังกล่าว
ยุทธหัตถี หมายถึง การต่อสู้ด้วยอาวุธบนหลังช้าง เป็นการรบอย่างกษัตริย์มาแต่โบราณกาล ถือเป็นความเชื่อมาแต่โบราณว่า ยุทธหัตถีหรือการชนช้างนั้น เป็นยอดยุทธวิธีของนักรบ เพราะเป็นการต่อสู้ตัวต่อตัว จะแพ้หรือชนะก็ขึ้นอยู่กับความเก่งกล้า ว่องไว รวมถึงความชำนาญในการขี่ช้าง ดังนั้น เมื่อกษัตริย์พระองค์ใดทำยุทธหัตถีชนะ ก็จะได้รับการยกย่องว่ามีพระเกียรติยศสูงสุด หรือแม้แต่ผู้แพ้ก็ได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าเป็นนักรบที่แท้จริง นอกจากนี้ในสมัยอยุธยา มีการทำยุทธหัตถี รวม 3 ครั้ง คือ
- ครั้งแรก ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อครั้งพระอินทราชาพระเจ้าลูกยาเธอได้ชนช้างกับข้าศึกที่นครลำปาง และถูกปืนสิ้นพระชนม์
- ครั้งที่สอง ในสมัยพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งได้ชนช้างกับพระเจ้าแปรกรุงหงสาวดี การทำยุทธหัตถีในครั้งนั้นส่งผลให้สมเด็จพระศรีสุริโยทัยต้องสิ้นพระชนม์
- ครั้งที่สาม สมเด็จพระนเรศวรมหาราชชนช้างกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี จนได้รับชัยชนะ ซึ่งยุทธหัตถีในครั้งนั้นถือได้ว่าเป็นครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ และเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้พระเกียรติยศของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นที่เลื่องลือไปไกล