...

คณะสังคมศาสตร์บูรณาการ ร่วมกิจกรรมเฝ้าระวังการทุจริตในพื้นที่จังหวัดหนองคาย STRONG

เมื่อวันจันทร์ที่ 27 และวันอังคารที่ 28 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา คณาจารย์สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมศักย์ ทองเอี่ยม ประธานชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต อาจารย์อภิรดี มิ่งวงศ์ กรรมการและเลขานุการชมรม STRONG และผู้ช่วยศาสตราจารย์ดามร คำไตรย์ โค้ชชมรม STRONG ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบพร้อมกับคณะกรรมการในชมรม STRONG จิตพอเพียงต่อต้านการทุจริต ในกิจกรรม A1 กิจกรรมการสำรวจพื้นที่การประกอบกิจการที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์และพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และนำข้อมูลภาคสนามมาสู่ชมรมเพื่อกำหนดแผนการดำเนินการเฝ้าระวัง (ครั้งที่ 1) และกิจกรรม A2 กิจกรรมเฝ้าระวังการทุจริต

กิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสำรวจพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายหรือการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและข้อเสนอแนะ พื้นที่ที่สำรวจในครั้งนี้ประกอบด้วย พื้นที่โครงการดูดทรายในแม่น้ำโขง อำเภอศรีเขียงใหม่ พื้นที่โฮมสเตย์วังน้ำมอก อำเภอศรีเชียงใหม่ และการสำรวจการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย

จากการสำรวจพื้นที่พบข้อสรุปเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายหรือการทุจริตและประพฤติ มิชอบ ดังนี้

  1. พื้นที่การดูดทรายในแม่น้ำโขง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย

คณะกรรมการเห็นว่ารัฐควรส่งเสริมให้ชุมชนรับทราบสิทธิของตนเอง เพื่อเสริมสร้างแนวทางการเฝ้าระวัง และให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการร้องเรียนปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากปัจจุบันอาศัยเพียงการตรวจสอบของหน่วยงานราชการ ซึ่งไม่ทราบว่ามีการตรวจสอบจริงจังเพียงใด แม้จะแจ้งว่ามีการตรวจสอบเป็นระยะตามที่กฎหมายกำหนดอยู่ก็ตาม นอกจากนั้น การที่ผู้ประกอบกิจการให้สิทธิประโยชน์แก่คนในพื้นที่ในการสนับสนุนเรื่องทรายในการก่อสร้าง และค่าทำศพคนในชุมชน อาจจะเป็นผลให้ประชาขนในพื้นที่ไม่กล้าร้องเรียนกิจกรรมต่างๆ เพราะตนเองก็ได้ประโยชน์จากโครงการดูดทรายเช่นกัน

ข้อสังเกตคือการดำเนินกิจการดูดทรายเป็นสัมปทานระยะสั้นเพียง 1 ปี แม้จะมีการทำประชาคมแต่ก็ไม่มีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนมักสนใจเรื่องผลประโยชน์ที่บริษัทดูดทรายจะมอบให้มากกว่าการคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม

ทางแก้ไขที่อาจทำได้คือการใช้เครือข่ายเฝ้าระวังเหตุการณ์เสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และรายงานต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยเจ้าหน้าที่ ปปช.อาจไปเข้าร่วมการทำประชาคมในแต่ละรอบระยะเวลาของโครงการดูดทรายด้วย พื้นที่การทำโฮมสเตย์ในเขตบ้านวังน้ำมอก อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย พบว่ามีความสุ่มเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ต่อการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งเจ้าหน้าที่ สปก.และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ รวมถึงหน่วยงานราชการอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมในการส่งเสริมกิจการโฮมสเตย์ซึ่งอาจรุกล้ำเข้าไปในลำน้ำตกที่เป็นเขตป่าสงวน และการใช้พื้นที่ สปก.ที่เป็นการละเมิดต่อข้อกำหนดทางกฎหมาย เนื่องจากมีการใช้พื้นที่นอกเหนือจากการทำการเกษตรไปแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยมิได้ขออนุญาตจากสำนักงาน สปก. ซึ่งจะต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานราชการให้ชัดเจนขึ้น เพื่อแก้ไขความสุ่มเสี่ยงต่อการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่การรุกล้ำพื้นที่สาธารณะในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย พบการรุกล้ำเขตพื้นที่สาธารณะของเจ้าของบ้านหลายหลัง เนื่องจากมีการประกาศเขตพื้นที่ทางเท้าสาธารณะภายหลังจากที่เจ้าของบ้านสร้างบ้านมานานแล้วรวมถึงการที่เจ้าหน้าที่ของเทศบาลมีความสุ่มเสี่ยงในการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่การควบคุมการก่อสร้างกิจการ และกระบวนการขออนุญาตก่อสร้าง ข้อมูลจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อการนำมาใช้ในการบูรณาการการเรียนการสอน เข้ากับงานวิจัยและการบริการวิชาการของอาจารย์ทั้งสามท่าน อันได้แก่ การนำข้อมูลมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการเรียนการสอนรายวิชากฎหมายที่ดิน ของผู้ช่วยศาสตราจารย์สมศักย์ ทองเอี่ยม รายวิชากฎหมายสิ่งแวดล้อม ของอาจารย์อภิรดี มิ่งวงศ์ รายวิชากฎหมายกับพลวัตทางสังคมและรายวิชานโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ดามร คำไตรย์

ข่าว : ดามร คำไตรย์

ภาพ : อภิรดี มิ่งวงศ์

นำเสนอข่าวโดย : อนิรุต สุทธินันท์

 

 

ประมวลภาพ

ข่าวล่าสุด