...

คณะสหวิทยาการและศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดอุดรธานี ปรึกษาหารือแนวทางด้านวิชาการ "การวิจัยการพัฒนาต้นแบบการผลิตหอยเชอรี่สีทอง"

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2565  เวลา 13.00 - 16.00 น.ณ ห้องประชุม NKC 1403 อาคารบริหาร คณะสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดอุดรธานี ได้มีการปรึกษาหารือแนวทางด้านวิชาการ คือ การวิจัยการพัฒนาต้นแบบการผลิตหอยเชอรี่สีทอง

ดร.สมบัติ  สิงห์สี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดอุดรธานี กล่าวถึง ความเป็นมา และที่มาของโครงการเรื่อง การพัฒนาต้นแบบการผลิตหอยเชอรี่สีทองคุณภาพสูงในระบบปิดเชิงพาณิชย์ โดยจุดเริ่มต้นของงานวิจัยในครั้งนี้คือ ได้รับการดำริจากผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กรมประมง สืบเนื่องจากท่านเล็งเห็นความสำคัญว่า งานวิจัยด้านหอยเชอรี่สีทองในประเทสไทยยังขาดข้อมูลด้านการวิจัยที่ชัดเจน ประกอบกับในปัจจุบันมีเกษตรบางกลุ่มเริ่มหันมาสนใจเลี้ยงหอยเชอรี่สีทองกันมากขึ้นเรื่อยๆ กรมประมงเองในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์น้ำ และกำกับดูแลสัตว์น้ำต่างถิ่นไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม หากไม่มีข้อมูลที่แท้จริงในการตัดสินใจและพิจารณา อาจจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร และระบบนิเวศตามมาอย่างแน่นอน โดยงานวิจัยในครั้งนี้ จะทำการวิจัยในหลายๆด้าน เริ่มตั้งแต่ด้านการเพาะเลี้ยง , การตลาด, การแปรรูป และ การส่งเสริม เป็นต้น โดยเบื้องต้นก็ได้มีทาง ดร.นิศารัตน์ ทิพยดารา , อาจารย์ปอ , อาจารย์เดรฟ และกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกันเขียนร่างงานวิจัยในครั้งนี้ และได้ส่งให้นางสาว กาญจณรี พงษ์ฉวี (ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีระบบการเลี้ยงสัตว์น้ำ กรมประมง) เพื่ออนุเคราะห์ตรวจแก้ไขร่างชุดนี้มาแล้วประมาณ 2 ครั้ง ทั้งนี้ โดย ดร.นิศารัตน์ ทิพยดารา เสนอกับผู้ร่วมเขียนงานวิจัยว่า เราควรจะเข้าสู่ขั้นตอนของการทำความร่วมมือ ระหว่างมหาวิทยาลัย และกรมประมง เพื่อการทำงานจะได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วขึ้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกียรติ  แสงอรุณ คณบดีคณะสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า งานวิจัยเรื่องนี้ น่าสนใจ และเป็นประโยชน์อย่างมาก ถ้าเรามีการจัดการหรือควบคุมที่ดี แต่ถ้าเราปล่อยให้เกษตรกรเลี้ยงแบบอิสระ อนาคตข้างหน้า คงจะควบคุมไม่ได้ และส่งผลกระทบในทางที่ไม่ดีแน่นอน จึงอยากจะให้ผู้วิจัยมองถึง 2 ประเด็นหลักๆ คือ (1) การวิจัย    (2) การส่งเสริม คือ ถ้าเลี้ยงจะเลี้ยงแบบไหน/วิธีไหนที่จะไม่สร้างปัญหา และ จะส่งเสริมรูปแบบไหน

ดร.สุทัศน์  เผือกจีน ประมงจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ปัจจุบัน จังหวัดหนองคาย ไม่พบการแพร่ระบาดของหอยเชอรี่ เนื่องจากโดนเกษตรกร หรือ ชาวบ้าน จับผลผลิตไปบริโภคหมด แต่พบว่า การเลี้ยงหอยเชอรี่มีเพิ่มมากขึ้น ทางสำนักงานประมงจังหวัดหนองคาย จึงต้องออกพื้นที่ เพื่อติดตาม หรือให้คำแนะนำการเลี้ยงและการดูแลอย่างถูกต้อง ส่วนในเรื่องของการทำ MOU นั้น เห็นควรว่าอยากจะให้ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย ทำ MOU ร่วมกับกรมประมง เพราะเชื่อว่า อาจารย์แต่ละท่านมีความเชี่ยวชาญด้านวิชาการอยู่แล้ว ถ้าได้ทำ MOU ร่วมกัน คงจะดีและเป็นประโยชน์อย่างมาก

นายอำพล  จินดาวงค์ ประมงจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ถ้าเป็นงานวิจัย เราจะควบคุมอย่างไร แต่ถ้าเราเลี้ยงแบบระบบปิดถือว่าดี และเห็นด้วย เพราะถ้าไม่มีการควบคุม มันจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในอนาคตต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เรืองฤทธิ์  หาญมนตรี อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร กล่าวว่า ในส่วนของ MOU ที่ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ได้ทำร่วมกับกรมส่งเสริมอยู่นั้น เราทำในภาพรวมของทางมหาวิทยาลัย คือทำแบบกว้าง เนื่องจากจะได้ร่วมมือกันในทุกๆเรื่องได้ เช่น การฝึกงาน การวิจัย การจัดอบรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และก็ทำร่วมกันมานาน การดำเนินงานก็เป็นไปได้อย่างราบรื่นเสมอมา

ข่าว : อนิรุต สุทธินันท์

ภาพ : สุพีระ วรแสน

ประมวลภาพ

ข่าวล่าสุด