...

คณะบริหารธุรกิจ เข้าอบรมในหลักสูตร “การอบรมหลักสูตรการบริหารการท่องเที่ยวสำหรับผู้บริหารระดับสูง-กทส รุ่นที่1 (Tourism Management Program for Executives –TME#1)”

ดร.จตุราพร สีหาบุตร รองคณบดี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย เข้าอบรมในหลักสูตร“การบริหารการท่องเที่ยวสำหรับผู้บริหารระดับสูง (กทส) รุ่นที่ 1 หรือ Tourism Management Program (TME)”

จากการที่ได้มีโอกาสเข้าศึกษาในหลักสูตร “การบริหารการท่องเที่ยวสำหรับผู้บริหารระดับสูง (กทส) รุ่นที่ 1 หรือ Tourism Management Program (TME)” จัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)  ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทางการตลาดท่องเที่ยวสำหรับบุคคลากรทางการท่องเที่ยวทั้งภาครัฐและเอกชน หลักสูตรมีการคัดเลือกผู้บริหารด้านการท่องเที่ยว ทั้งจากภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาค เอกชน และภาคส่วนอื่นๆที่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เข้าศึกษาในหลักสูตรดังกล่าว  มีผู้เข้าอบรมที่ ผ่านการอบรมทั้งสิ้น จำนวน 85 คน ตลอดระยะเวลาการอบรมทั้งสิ้น 72 ชั่วโมง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ –มิถุนายน 2560 (สัปดาห์ละ 1 วัน)  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการเชื่อมโยงการทำงานในระดับนโยบายครอบคลุมเป็นเครือข่ายและช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม

หลักสูตรมีรูปแบบการเรียนจากการรับฟังบรรยายและถ่ายทอดองค์ความรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆและการเรียนรูปแบบระดมความคิดเห็นของผู้เรียนซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทผลักดันต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย การรับฟังบรรยายจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ และผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ส่วนได้ส่วนเสียจากภาคเอกชนทางการท่องเที่ยวอีกหลายท่าน หลักสูตรมีการออกแบบเนื้อหาตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยมีหัวข้อการอบรมที่เอื้อต่อการประสานประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวต่อกัน อาทิ แผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวระดับต่างๆ ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ภูมิสถาปัตยกรรมและการบริหารจัดการพื้นที่ด้านการท่องเที่ยว การบริหารจัดการภาวะวิกฤตและความเสี่ยงด้านการท่องเที่ยว นอกจากนี้ผู้เข้ารับการอบรมได้มีโอกาสเดินทางศึกษาดูงานในประเทศ 2 ครั้ง ณ จังหวัดชลบุรี และจังหวัดเชียงราย และศึกษาดูงานต่างประเทศ ณ มหานครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน

ในการเรียน มีการแบ่งกลุ่ม 4 กลุ่ม (อาณาจักรศรีวิชัย อาณาจักรเชียงแสน อาณาจักรทวารวดี และอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์) แต่ละสัปดาห์มีการบ้านเพื่อให้ผู้เรียนได้ระดมความคิดเห็นระหว่างในกลุ่ม และให้แต่ละกลุ่มได้มีบทบาทการเป็นเจ้าภาพการจัดกิจกรรมแต่ละสัปดาห์และนำเสนอการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ที่มาจากหลากหลายภาคส่วนที่ดีมาก โดยสัปดาห์สุดท้ายของการเรียนแต่ละกลุ่มมีการนำเสนอร่างยุทธศาสตร์ทางการท่องเที่ยวของไทย  เช่นการนำเสนอ Cover Thai Dance สู่ตลาดยุคใหม่ Global Marketing Trends ฉีกกรอบความเป็นวิชาการสู่ประสบการณ์ “ท่องเที่ยววิถีไทย สไตล์ลึกซึ้ง” หรือ “Local Experience” วันนี้และวันไหนๆ ประเทศไทยจะครองความเป็นผู้นำ ตามเป้าหมายของประเทศในปี 2564 ที่ประเทศไทยจะนำการท่องเที่ยวทำรายได้ 4 ล้านล้านบาทต่อปี ตอกย้ำภาพลักษณ์ให้คนไทยเกิดจึตสำนึก “ไทยเท่”  อันจะเป็นแม่เหล็กดึง นักท่องเที่ยวคุณภาพ ทั่วโลกหลั่งไหลเข้ามา โดยคนไทยจะตื่นตัวในการเป็นเจ้าบ้านที่ดี หรือยุทธศาตร์ภายใต้วิสัยทัศน์ “Thailand is the BEST of All in Tourism”  “เป็นประเทศที่น่าท่องเที่ยวอันดับ1 ในทุกมิติ” เป็นการนำเสนอรูปแบบ ท่องเที่ยวไทยไปสู่ Thailand 4.0 นำนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น (เช่นการนำ Big Data มาใช้ในการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค) โดยเน้นเรื่องความยั่งยืน รวมทั้งการวางกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ การใช้หลักวิเคราะห์SWOT พร้อมนำเสนอเป้าประสงค์ แผนกิจกรรมที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ 

การเรียนหลักสูตรดังกล่าว ผู้อบรมมองว่าเป็นประโยชน์ ทั้งในด้านการพัฒนาองค์ความรู้ต่อการเรียนการสอนของอาจารย์  การพัฒนาหัวข้อการวิจัยการท่องเที่ยว  การแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้มีความรู้จากทุกภาคส่วนทางการท่องเที่ยว ซึ่งผู้อบรมจะได้มีการนำความรู้ที่ได้มาถ่ายทอดแก่นักศึกษา  พัฒนาหัวข้อในการวิจัย และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคณาจารย์ในหลักสูตรการท่องเที่ยวและเพื่อนร่วมงานต่อไป

ภาพ / ข่าว        ดร.จตุราพร สีหาบุตร

ผู้นำเสนอข่าว    อนิรุต สุทธินันท์ 

ประมวลภาพ

ข่าวล่าสุด